วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

หลวงปู่เฒ่าแห่งบ้านโต้น (สมเด็จ อาจ อาสภมหาเถระ)







รูปที่ 1 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ)  

      หากจะกล่าวไปแล้ว หลายๆท่าน อาจจะยัง ไม่เคยได้ยินชื่อหรือรู้จักกับพระเถระผู้ใหญ่ท่านนี้  ผิดกับข้าพเจ้าที่เกิดและเติบโต  อยู่ในหมู่บ้านละแวกใกล้ๆ กับ บ้านโต้น ตำบลบ้านโต้น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเกิดมาก็ได้ยินชื่อท่านเลย และไม่ว่าจะเป็นคนแก่ เด็กเล็ก คนหนุ่ม คนสาว ก็มักจะเรียกท่านว่า หลวงปู่เฒ่า  ท่านเป็นพระที่ใจดี สมะถะ และชอบสอนการนั่งกรรมฐานเป็นประจำ และท่านยังเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ยาวไกลที่สุดในบรรดาพระภิกษุไทยสมัย 25 พุทธศตวรรษ เป็นผู้บุกเบิกเส้นทางเดินของพระธรรมทูตไทยในยุคปัจจุบัน นำร่องสร้างทั้งวัดไทยพุทธคยา-อินเดีย วัดพุทธปทีป-อังกฤษ และวัดไทยแอลเอ-สหรัฐอเมริกา
ชื่อ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ)  [ เมื่อปีพ.ศ. 2528 เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์]
สมณะศักดิ์ :  สมเด็จพระราชาคณะ อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ประวัติโดยย่อ :  สมเด็จอาจ อาสโภ   เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 แรม 4 ค่ำเดือน 12 ณ บ้านโต้น ต.บ้านโต้น อ.เมือง  สมเด็จพระพุฒาจารย์ มีนามเดิมว่า คำตา ดวงมาลา เป็นบุตรคนโตของนายพิมพ์ และนางแจ้ ดวงมาลา จังหวัดขอนแก่น  มีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งสิ้น 4 คนท่านเป็นบุตรคนโต น้องอีกสามคนคือ นางบี้ นายเพิ่ม และนางเอื้อ ตามลำดับ 
         เมื่ออายุ 14 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดศรีจันทร์ จ.ขอนแก่น โดยมีอาจารย์พระหน่อ วัดศรีจันทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาท่านย้ายมาอยู่กรุงเทพฯเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
จนอายุครบ 20 ปี ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในวันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2466 ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 8 ณ พัทธสีมาวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ โดยมีสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) ขณะยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมไตรโลกาจารย์เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสมโพธิ (สวัสดิ์ กิตฺติสาโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺโต) ขณะยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระศรีสมโพธิ เป็นพระอนุสาวนาจารย์   ได้รับนามฉายาว่า อาสโภ นอกจากนั้น พระธรรมไตรโลกาจารย์ (เจ้าอาวาสขณะนั้น) ได้เปลี่ยนชื่อท่านจาก คำตา เป็น อาจ เพื่อให้เหมาะกับบุคลิก องอาจ แกล้วกล้า ท่านสอบได้เปรียญธรรม 8 ประโยคเมื่อ พ.ศ. 2472
 


 รูปที่ 2 เมื่อครั้งอุปสมบทเป็นพระ

และในปี พ.ศ. 2503 ท่านยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรมนั้น ท่านได้ถูกกล่าวหาว่าเสพเมถุนทางเวจมรรค ( การเสพเมถุนทางทวารหนัก ) กับลูกศิษย์ จึงถูกถอดสมณศักดิ์และตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ทว่าต่อมาสามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นความเท็จ แม้กระนั้นต่อมาใน พ.ศ. 2505 ท่านได้ถูกทางการกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จึงถูกบังคับสึกเป็นฆราวาส และจำคุกอยู่ที่กองบังคับการตำรวจสันติบาลอยู่หลายปี (กล่าวกันว่าสาเหตุที่แท้จริงมาจากเรื่องการเมืองในวงการคณะสงฆ์ไทยในเวลานั้น) ขณะที่ท่านถูกจองจำในคุก ท่านยังคงปฏิบัติตน เช่นพระสงฆ์ดังเดิม โดยนุ่งห่มขาวเหมือนผู้ถือศีล มีผ้าคลุมสีกากี และ น้ำตาลไหม้ ฉันข้าวมื้อเดียว นั่งกรรมฐาน และเดินจงกรม จนกระทั่งได้รับการปล่อยตัว เมื่อศาลทหารสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของท่านได้และตัดสินยกฟ้องเมื่อ พ.ศ. 2509 คดีดังกล่าวนี้นับเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาของไทย ซึ่งสร้างความสะเทือนใจให้แก่ศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง


 

รูปที่ 3   ขณะที่ท่านถูกจองจำในคุก  ปี พ.ศ. 2505-2509

เมื่อท่านได้รับการปล่อยตัวออกม ท่านได้กล่าววลีเด็ดไว้ว่า  จงชนะความร้ายด้วยความดีและ สร้างเหรียญรุ่นแรก ออกมา เป็น เนื้อทองเหลือง, ทองแดงรมดำ เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจให้สาธุชนรุ่นหลัง ว่า อย่าได้อาฆาตพยาบาทใคร ดังวลีที่ท่านกล่าวไว้ข้างต้น  ไม่ว่าท่านจะถูกใส่ร้ายป้ายสีจากคณะสงฆ์ ขนาดนั้น ท่านไม่เคยถือโทษโกรธเคืองแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำยัง บำเพ็ญภาวนา และแผ่เมตตาแก่บุคคลเหล่านั้นอีกด้วย



รูปที่ 4   วันที่พ้นข้อกล่าวหา  2509

 
รูปที่ 5   เหรียญรุ่นแรก จงชนะความร้ายด้วยความดี  เนื้อทองแดงรมดำ

         สมเด็จอาจ ท่านมรณะภาพเมื่อ  8 ธันวาคม พ.ศ. 2532 ด้วยอาการอาพาธ และภาวะหัวใจวาย ด้วยอาการสงบ สิริอายุได้ 86 ปี 1 เดือน 66 พรรษา

เกร็ดความรู้ :  สมเด็จอาจ ท่านยังเป็นบุคคลแรกที่นำการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐานสี่ (หรือแบบยุบหนอ-พองหนอ) จากพม่ามาเผยแพร่ในประเทศไทย โดยเปิดสอนครั้งแรกที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ในปี พ.ศ. 2496 จากนั้นจึงขยายไปเปิดสอนที่สาขาอื่นทั่วราชอาณาจักร มีการตั้งกองการวิปัสสนาธุระที่วัดมหาธาตุฯ ต่อมาถูกยกสถานะเป็นสถาบันวิปัสสนาธุระ สังกัดมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 และได้เผยแพร่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแบบยุบหนอ-พองหนอจนแพร่หลายดังปัจจุบัน
ตุ่นหนุนดวง
06 กุมภาพันธ์ 2557
 
ขอขอบคุณที่มาทั้งหลาย: